xs
xsm
sm
md
lg

รายงานยื่นเสนอรัฐสภามะกันระบุ 'ดุลอำนาจทหาร'เอเชียแปซิฟิก กำลังปรับเปลี่ยนในทางทำให้USเสียเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ(ซ้าย) กับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน(ขวา) ชาติยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ขณะที่เพนตากอนเตือนเมื่อวันพุธ(20ม.ค.) ว่าการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของพญามังกรในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า จะถือเป็นความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์หลักสำหรับอเมริกาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงของเอเชีย
การ์เดียน/รอยเตอร์ - ดุลอำนาจทางทหารในเอเชียกำลังปรับเปลี่ยนไปในทางที่ไม่เป็นผลดีต่ออเมริกา ขณะที่จีนเคลื่อนไหวอ้างสิทธิ์อธิปไตยก้าวร้าวยิ่งขึ้น รายงานล่าสุดของทีมคลังสมองอิสระในวอชิงตันซึ่งจัดทำให้แก่เพนตากอนระบุ พร้อมเตือนว่า การผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของพญามังกรในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า จะถือเป็นความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์หลักสำหรับอเมริกาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงของเอเชีย

งานศึกษาของศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา (CSIS) ซึ่งเป็นทีมคลังสมองชั้นนำในวอชิงตันที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพุธ (20 ม.ค.) ระบุว่า ยุทธศาสตร์ “ปรับความสมดุลกลับคืนสู่เอเชีย” หรือ "ปักหมุดหวนคืนเอเชีย” ที่บารัค โอบามา ประกาศเมื่อปี 2011 กำลังตกในความสับสนท่ามกลางสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศที่ซับซ้อนขึ้นอย่างมาก

รายงานฉบับนี้ซึ่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เป็นผู้ว่าจ้างให้จัดทำ ตามข้อบังคับในกฎหมายใหม่ซึ่งรัฐสภาอเมริกันผ่านออกมาบังคับใช้ในปี 2015 จะถูกนำไปอภิปรายในคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาในเร็วๆ นี้ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะถูกพวกผู้ต้องการเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ นำไปสนับสนุนข้อกล่าวหาของพวกเขาที่ว่า โอบามามีภาวะผู้นำบกพร่อง ในการรับมือกับจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ

“การดำเนินการของจีนและเกาหลีเหนือ ท้าทายความน่าเชื่อถือของพันธกรณีด้านความมั่นคงของอเมริกาครั้งแล้วครั้งเล่า และในระดับการพัฒนาศักยภาพในปัจจุบัน ดุลอำนาจทางทหารในเอเชียกำลังปรับเปลี่ยนไปในทางที่ไม่เป็นผลดีต่ออเมริกา ดังนั้น อเมริกาจึงจำเป็นต้องเพิ่มงบสนับสนุนก้อนใหญ่เพื่อดำเนินการปรับสมดุลนี้เสียใหม่” รายงานเตือน

โอบามานั้นหวังว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศให้หันมามุ่งเน้นเอเชียของเขา จะช่วยรื้อฟื้นพันธมิตรต่างๆ ที่สหรัฐฯมีอยู่ในเอเชีย รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจ และเปิดทางให้ตัวเองหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

ทว่าการวางตัวให้เกิดความสมดุลในเอเชียนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ยกตัวอย่างเมื่อความเย็นชาระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ทำให้วอชิงตันยังต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงให้โตเกียวต่อไป แถมชัค เฮเกล ผู้สนับสนุนยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียอย่างแข็งขัน ยังลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมไปตั้งแต่ปีก่อน

รายงานฉบับนี้ของ CSIS ที่เป็นการศึกษาติดตามผลจากรายงานเมื่อปี 2012 ระบุว่า อเมริกาควรสานต่อสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของตนในเอเชีย-แปซิฟิกมาแต่ไหนแต่ไร รวม 3 ด้านด้วยกันโดยที่ทั้ง 3 อย่างนี้ก็มีความเกี่ยวข้องพัวพันกันอยู่ ได้แก่ การปกป้องอเมริกาและพันธมิตร, การส่งเสริมการค้า, และการสนับสนุนประชาธิปไตย

จากนั้น รายงานได้แจกแจงว่าเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์เหล่านี้ มีสิ่งที่จะต้องดำเนินการ 4 ประการ คือ ประการแรก ทำเนียบขาวควรต้องพัฒนายุทธศาสตร์ปรับสมดุลหวนคืนสู่เอเชียของตนให้เป็นหนึ่งเดียวอันชัดเจน เนื่องจากจนถึงขณะนี้ คณะบริหารของโอบามายังไม่มีคำแถลงแกนกลางเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การปรับสมดุลของรัฐบาลสหรัฐฯ เลย อันเป็นผลให้บรรดาผู้นำทั้งในกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ จนถึงรัฐสภาอเมริกา ตลอดทั้งพันธมิตรทั่วเอเชีย-แปซิฟิก สับสนและกังวลว่า ยุทธศาสตร์นี้จะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

ประการที่สอง ผู้นำของอเมริกาควรเร่งความพยายามในการเสริมศักยภาพ ความยืดหยุ่น และความสามารถที่จะทำงานร่วมกัน ของบรรดาพันธมิตรและหุ้นส่วน

ประการที่สาม อเมริกาควรรักษาและขยายการปรากฎตัวทางทหารในเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ รายงานเตือนว่า จีนกำลังเร่งรัดกิจกรรมแบบบีบบังคับและการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ส่วนเกาหลีเหนือก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพขีปนาวุธนิวเคลียร์ไม่หยุดหย่อน

“สมรรถนะในด้านการต่อต้านการเข้าถึง/การปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area denial)ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนที่เคยถูกมองว่า พุ่งเป้าที่ไต้หวันเท่านั้น มาถึงขณะนี้กำลังขยายอย่างรวดเร็วไปยังแนวสายโซ่ดินแดนชั้นที่ 2 (Second Island Chain) ซึ่งส่งผลไม่เฉพาะกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของอเมริกาจำนวนมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงดินแดนของอเมริกาอย่างเกาะกวมด้วย"

รายงานแนะนำให้อเมริกาเพิ่มการปรากฏตัวของกองเรือรบผิวน้ำ, เพิ่มจำนวนเรือดำน้ำโจมตีนิวเคลียร์ในกวมจาก 4 ลำเป็น 6 ลำ, เดินหน้าการกระจายสถานที่ตั้งสำหรับปฏิบัติการทางอากาศ, เพิ่มพูนระบบต่อต้านขีปนาวุธในภูมิภาค, สะสมเครื่องกระสุนที่มีความแม่นยำสูง, และเพิ่มประสิทธิภาพการร่วมมือด้านข่าวกรอง การตรวจการณ์ และการสอดแนมกับพันธมิตรภายในภูมิภาค

ในประการที่สี่ รายงานเสนอว่า อเมริกาต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุดช่องว่างด้านศักยภาพที่สำคัญในสองด้าน ได้แก่ การป้องกันความเสี่ยงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ต่อกองกำลังอเมริกา เป็นต้นว่า ความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในการที่เรือรบและฐานปฏิบัติการส่วนหน้าของอเมริกาจะถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธนำวิถี, และ การหาทางให้สหรัฐฯมีความได้เปรียบใน “การตอบโต้ด้วยการทุ่มงบประมาณใช้จ่ายแบบอสมมาตร” ต่อพวกที่อาจกลายเป็นศัตรูในภูมิภาค

รายงานยังเรียกร้องให้จัดตั้งหน่วยร่วมเฉพาะกิจของสหรัฐฯแบบถาวรขึ้นมาสำหรับประจำในซีกตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของผู้นำทางทหารและพลเรือนหลายคน

“ความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้น เมื่อมีการปฏิบัติการสู้รบระดับใหญ่ๆ ในยุทธภูมิเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้เรื่องการมีความสัมพันธ์ในเชิงบังคับบัญชาสั่งการเอาไว้ก่อน เป็นสิ่งซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษ” รายงานเตือน

ญี่ปุ่น ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก ทมักถูกอ้างอิงว่า เป็นพันธมิตรสำคัญของอเมริกาในเอเชีย ทว่า CSIS กลับพบว่า สหรัฐฯกับญี่ปุ่นยังขาดการประสานงานกันเพื่อให้สามารถตอบโต้ได้เมื่อเกิดวิกฤตที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

รายงานยังตั้งข้อสังเกตถึงนัยทางภูมิรัฐศาสตร์จากการคาดการณ์ว่า จีนจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ซึ่งถือเป็นความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์หลักสำหรับอเมริกาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงของเอเชีย

“หากอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การทหาร และภูมิรัฐศาสตร์ของจีนยังคงแผ่ขยายแม้กระทั่งด้วยฝีก้าวแค่พอประมาณในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว โลกก็จะเป็นประจักษ์พยานถึงการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดในการกระจายอำนาจของโลก นับจากที่อเมริกาประกาศศักดาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 … ยิ่งไปกว่านั้น หากจีนแซงหน้าอเมริกาขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกใน 10-15 ปีข้างหน้า ก็จะถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปี ที่ผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกไม่ใช่ชาติที่พูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ชาติตะวันตก และไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย”3


กำลังโหลดความคิดเห็น