xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลฟ้องภาคผลิต-บริการ “จีน” ซบ IMF ปลอบ “ชะลอแต่ไม่เกินคาดหมาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โรงงานผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ขณะที่ข้อมูลตัวเลขที่เปิดเผยล่าสุดในวันอังคาร (1 ก.ย.) แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตของจีนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ในอาการหดตัวแรงที่สุดในรอบระยะเวลาอย่างน้อยสามปี เนื่องจากดีมานด์ทั้งในและนอกประเทศทรุดต่ำ
เอเจนซีส์ - ข้อมูลตัวเลขที่เปิดเผยล่าสุดในวันอังคาร (1 ก.ย.) แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตของจีนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ในอาการหดตัวแรงที่สุดในรอบระยะเวลาอย่างน้อยสามปี เนื่องจากดีมานด์ทั้งในและนอกประเทศทรุดต่ำ ทำให้นักลงทุนวิตกมากขึ้นว่า ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้อาจกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะชะลอตัวรุนแรง อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คริสทีน ลาการ์ด ออกมาปลอบว่า เศรษฐกิจแดนมังกรไม่ได้มีการซวนเซอย่างรุนแรงหรือย่ำแย่ผิดความคาดหมาย

นอกจากผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลง ศักยภาพล้นเกิน และการลงทุนตกต่ำแล้ว ขณะนี้เศรษฐกิจจีนยังถูกรุมกินโต๊ะจากราคาหุ้นควงสว่านและการลดค่าเงินหยวนอย่างปัจจุบันทันด่วน

ในวันอังคาร (1) รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ทาโร อาโสะ ยังออกมากล่าวว่า น่าจะเป็นการดี หากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี 20) ในสัปดาห์นี้หยิบยกเรื่องภาวะเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันขึ้นมาหารือด้วย อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าเขาคงจะถูกเจ้าหน้าที่จีนตอบโต้วิจารณ์กลับด้วยความไม่พอใจ

ทางด้าน บิลล์ อดัมส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของพีเอ็นซี ไฟแนนเชียล เซอร์วิส แห่งเมืองพิตสเบิร์ก,สหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า ราคาหุ้นจีนที่ดิ่งลง 40% นับจากกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจและผู้บริโภคจีนวิตกกังวลมากขึ้น พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัว 6.5% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก่อนลดจังหวะลงอยู่ที่ 6.2% ในปีหน้า

ทว่า นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า อัตราขยายตัวของจีนชะลอลงต่ำกว่าตัวเลขดังกล่าวอยู่แล้ว ส่งผลให้เป้าหมายอย่างเป็นทางการที่ 7% ของปักกิ่งตกอยู่ในความเสี่ยง

ทั้งนี้ ในวันอังคาร สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนแถลงว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ของทางการจีน ประจำเดือนสิงหาคม ได้ลดลงอยู่ที่ 49.7 จาก 50.0 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำสุดนับจากเดือนสิงหาคม 2012 แถมยังต่ำกว่าระดับ 50 แล้ว โดยที่ดัชนีตัวนี้หากต่ำกว่า 50 จะตีความกันว่าเศรษฐกิจกำลังมีแนวโน้มที่จะหดตัว ถ้าสูงกว่า 50 คือแนวโน้มขยายตัว

ขณะที่ ดัชนีพีเอ็มไอของภาคเอกชนซึ่งจัดทำโดย ไฉซิน/มาร์กิต และมุ่งเน้นสำรวจพวกกิจการขนาดเล็กลงมานั้น ก็พบว่าในเดือนสิงหาคม ดัชนีนี้ดิ่งลงอยู่ที่ 47.3% ต่ำสุดนับจากเดือนมีนาคม 2009

การสำรวจของทั้งสองแห่งระบุตรงกันว่า พวกผู้ผลิตพากันปลดพนักงานเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะคำสั่งซื้อตกวูบ นอกจากนั้น การสั่งปิดโรงงานทางภาคเหนือของประเทศ เพื่อให้น่านฟ้าปราศจากหมอกควันพิษ เป็นการต้อนรับพิธีสวนสนามครั้งใหญ่เพื่อฉลองครบรอบ 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กรุงปักกิ่ง วันพฤหัสบดีนี้ (3) ก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการผลิต ทำนองเดียวกับเหตุระเบิดมโหฬารที่เทียนจินเมื่อต้นเดือนที่แล้ว

ขณะเดียวกัน ดัชนีพีเอ็มไอในภาคบริการ ของทางการจีน ประจำเดือนสิงหาคมนี้ ได้ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 53.4 ยังคงอยู่ในแดนบวก แต่ผลสำรวจภาคเอกชนกลับให้ตัวเลขดิ่งลงหนักกว่า โดยเหลือเพียง 51.5% ต่ำที่สุดนับจากเดือนกรกฎาคม 2014 บ่งชี้ว่า ภาคบริการไม่สามารถชดเชยการซบเซาเรื้อรังของภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้ต่อไป อีกทั้งยังทำให้ดัชนีพีเอ็มไอรวมทั้งภาคการผลิตและบริการตกต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับจากเดือนเมษายน 2014

ข่าวลบของภาคการผลิตและบริการของจีนมีแนวโน้มบ่อนทำลายความพยายามของปักกิ่งในการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน หลังจากการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาด เปิดทางให้กองทุนของรัฐเข้าซื้อหุ้น และลดดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนไม่สามารถทำให้ตลาดหุ้นจีนฟื้นคืนสู่แดนบวก มิหนำซ้ำนักวิเคราะห์บางคนยังเตือนว่า ยิ่งปักกิ่งล้มเหลวในการเข้าแทรกแซงมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มมากขึ้นว่านักลงทุนจะเมินมาตรการแทรกแซงๆ ใหม่ๆ ที่จะตามมา

ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด บวกกับความกังวลเรื่องที่เฟดแสดงท่าทียังอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในตอนกลางเดือนนี้ กระตุ้นให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปิดวันอังคารลดลง 1.23% โดยมีช่วงหนึ่งหล่นลงกว่า 4% ทว่าตลาดหลักทรัพย์เอเชียอื่นๆ อยู่ในอาการหนักกว่าด้วยซ้ำ เป็นต้นว่า โตเกียว -3.84%, ฮ่องกง -2.24%

อย่างไรก็ตาม ลาการ์ด นายใหญ่ไอเอ็มเอฟ ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนอินโดนีเซีย ออกมากล่าวในวันอังคารโดยพาดพิงถึงจีนว่า เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังชะลอลง ถึงแม้ไม่ได้มีการชะลออย่างรุนแรงหรืออย่างผิดความคาดหมาย ในขณะที่จีนอยู่ระหว่างการปรับตัวเข้าสู่โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น