xs
xsm
sm
md
lg

‘โนมูระ’บอก ‘เงินหยวน’ผ่านช่วงอ่อนค่าที่สุดแล้ว

เผยแพร่:   โดย: เอเชีย อันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Worst of yuan rout is over: Nomura
By Asia Unhedged
13/08/2015

นักยุทธศาสตร์ด้านค้าเงินตราของโนมูระโฮลดิ้งส์ ระบุในวันพฤหัสบดี (13 ส.ค.) ว่า ถึงแม้มีแนวโน้มที่ค่าเงินหยวนจะอ่อนตัวลงอย่างไปยืนยาว แต่ทางการจีนก็ดูจะควบคุมสถานการณ์ได้ และดังนั้นช่วงที่เงินหยวนทรุดตัวอย่างชวนช็อกที่สุด น่าจะผ่านพ้นไปแล้ว

อย่าแตกตื่น มีสติเข้าไว้ แล้วเดินหน้ากันต่อไป การอ่อนตัวไหลรูดของค่าเงินหยวน ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตแบบที่เอเชียเคยประสบเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1990 หรอก

อย่างน้อยที่สุด นี่ก็เป็นเสียงเรียกร้องของ โนมูระ โฮลดิ้งส์ (Nomura Holdings) แม้ว่าครั้งสุดท้ายที่สกุลเงินตราแดนมังกรเคยทรุดฮวบลงถึงระดับซึ่งเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ก็คือเมื่อร่วมๆ 2 ทศวรรษมาแล้วก็ตามที (ดูรายละเอียดข่าวเกี่ยวกับทัศนะของโนมูระ ได้ที่ http://www.bloomberg.com/news/articles/2015-08-13/worst-of-yuan-rout-over-as-china-maintains-control-nomura-says)

กระทั่งเมื่อพิจารณาในแง่ร้ายจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนได้หล่นลงมาจากระดับสูงสุดที่เคยถือครองอยู่ 4 ล้านล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว แต่นี่ก็ยังคงทำให้แดนมังกรเป็นชาติที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในโลกอยู่ดี เจนส์ นอร์ดวิก (Jens Nordvig) กับ เดวิด ฟริตซ์ (David Fritz) นักยุทธศาสตร์ด้านค้าเงินตราของโนมูระ ยังชี้ในข้อสังเกตซึ่งส่งถึงลูกค้าเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ส.ค.) ว่า หนี้สินสกุลเงินตราต่างประเทศของจีนเวลานี้ อยู่ในระดับเพียงเท่ากับ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และนี่ยังไม่ถึงหนึ่งในสี่ของระดับที่มาเลเซียกับไทยมีอยู่เมื่อตอนวิกฤตการเงิน (ซึ่งในเมืองไทยนิยมเรียกกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”) เริ่มต้นขึ้นในปี 1997

“ขณะที่มีความน่าจะเป็นอย่างมาก ที่ค่าเงินหยวนจะเคลื่อนไหวไปในทางอ่อนตัวลงอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น แต่เราก็ยังคงมีความโน้มเอียงที่จะคิดว่า ทางการผู้รับผิดชอบของจีนจะยังสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้” นอร์ดวิก กับ ฟริตซ์ เขียนเอาไว้เช่นนี้ “นี่บ่งบอกให้เห็นว่า การขยับเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายในประเทศจีน และนี่น่าจะหมายความว่าเราได้ผ่านผลกระทบชวนช็อกช่วงเลวร้ายที่สุดมาแล้ว”

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ทำให้ตลาดรู้สึกเซอร์ไพรซ์ตระหนกตกใจในวันอังคาร (11 ส.ค.) เมื่อตัดสินใจเลิกการผูกตรึงค่าเงินหยวนเอาไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯ และปล่อยให้มันลอยตัว โดยในวันอังคารนั้นเอง เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เงินหยวนก็อ่อนค่าลงไป 1.9% แล้วยังบังเกิดเช่นนี้ซ้ำอีกหนในวันพุธ (12 ส.ค.) ทำให้สกุลเงินตราของแดนมังกรอยู่ในระดับอ่อนตัวที่สุดในรอบ 4 ปี

อย่างไรก็ดี พอมาถึงวันพฤหัสบดี (13 ส.ค.) ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศดูเหมือนค้นพบระดับราคาที่ตนชื่นชอบแล้ว หลังจากยังตกต่อไปอีก 0.9% เงินหยวนก็ได้กระเตื้องกลับขึ้นมาในตอนท้ายของช่วงการซื้อขายทางแถบเอเชีย จนกระทั่งถึงเวลาปิดก็ลดลงไปเพียง 0.3% หรืออยู่ในระดับ 6.39 หยวนต่อดอลลาร์

เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของ แบงก์ชาติจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China) ยังได้ออกมาแถลงปกป้องความเคลื่อนไหวมุ่งลดค่าเงินหยวนของตนในคราวนี้ พร้อมกับยืนยันว่าข่าวลือที่บอกว่าแบงก์ชาติต้องการให้เงินหยวนอ่อนตัวลงถึง 10% นั้น เป็น “เรื่องเหลวไหล” ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าว “มาร์เก็ตวอตช์” (Marketwatch) (ดูรายละเอียดรายงานข่าวนี้ได้ที่ http://www.marketwatch.com/story/dollar-gains-china-defends-yuan-devaluation-2015-08-13)

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น