xs
xsm
sm
md
lg

อดีตปธน.สหรัฐฯ “จิมมี คาร์เตอร์” ป่วยเป็น “มะเร็ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ แห่งสหรัฐฯ
เอเอฟพี – อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ แห่งสหรัฐฯ ออกคำแถลงยอมรับวานนี้ (12 ส.ค.) ว่า ตนกำลังป่วยเป็นมะเร็ง และเนื้อร้ายได้ลุกลามต่อไปยังอวัยวะอื่นๆ

ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 39 ซึ่งปัจจุบันอายุ 90 ปี เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดเอา “ก้อนเนื้อเล็กๆ” ออกจากตับเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งผลการรักษาเป็นไปด้วยดี

“การผ่าตัดครั้งนั้นทำได้ทราบว่า ผมมีเนื้อร้ายที่ลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย” คาร์เตอร์ ระบุในเอกสารคำแถลงสั้นๆ

“ผมจะปรับตารางการทำงานเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สามารถรักษาตัวอย่างเต็มที่... เมื่อทราบข้อเท็จจริงต่างๆ แล้วจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงสัปดาห์หน้า”

คาร์เตอร์ ซึ่งเป็นชาวรัฐจอร์เจียโดยกำเนิด จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเอมอรี ในเมืองแอตแลนตา

อดีตผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ต้องสูญเสียบิดา พี่ชาย และน้องสาว 2 คนไปด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนทั้งสิ้น

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เป็นคนหนึ่งที่ออกมาให้กำลังใจแก่ คาร์เตอร์ โดยกล่าวอวยพรให้เขา “หายป่วยเป็นปกติโดยเร็ววัน”
“จิมมี คุณเป็นคนทรหดอดทน ผมและพวกเราทุกคนในอเมริกาเป็นกำลังใจให้แก่คุณ” โอบามา ระบุในถ้อยแถลง

เมื่อเดือนพฤษภาคม คาร์เตอร์ เริ่มมีอาการป่วยจนต้องเดินทางกลับจากกายอานาก่อนกำหนด

คาร์เตอร์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างปี 1977-1981 เหตุการณ์ซึ่งเป็นที่จดจำในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ วิกฤตตัวประกันในอิหร่าน ซึ่งมีชาวอเมริกันมากกว่า 50 คนถูกกักไว้ที่กรุงเตหะรานนานถึง 444 วันหลังเกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้น

การที่ คาร์เตอร์ ไม่สามารถเจรจาช่วยเหลือพลเมืองอเมริกันกลุ่มนี้ออกมาได้ และภารกิจช่วยชีวิตของกองทัพอเมริกันก็ยังล้มเหลวอีก เป็นผลทำให้รัฐบาลของเขาเริ่มเสื่อมความนิยมและปิดโอกาสในการครองตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2

ตัวประกันเหล่านั้นได้รับอิสรภาพ หลังจากที่ โรนัลด์ รีแกน ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ

การผลักดันข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลและอียิปต์ถือเป็นผลงานและความสำเร็จทางการทูตที่ยอดเยี่ยมที่สุดในยุคของคาร์เตอร์ แต่ภารกิจอื่นๆ ที่เขาได้ทำหลังจากพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วก็เรียกเสียงชื่นชมไม่น้อย

คาร์เตอร์ เป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีบทบาทช่วยเหลือสังคมเรื่อยมา ทั้งการเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง และส่งเสริมสุขภาพพลเมืองผ่านศูนย์คาร์เตอร์ที่เขาก่อตั้งขึ้นในปี 1982

เขาเคยมีส่วนร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งในเม็กซิโก เปรู นิการากัว เวเนซุเอลา และติมอร์ตะวันออก และเมื่อปี 2003 ก็ได้มีโอกาสเข้าพบ ฟิเดล คาสโตร ผู้นำปฏิวัติแห่งคิวบา

คาร์เตอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2002 ในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

สหรัฐฯ เหลืออดีตประธานาธิบดีที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง 4 คน ได้แก่ จิมมี คาร์เตอร์, จอร์จ เอช. ดับเบิลยู บุช, บิล คลินตัน และ จอร์จ ดับเบิลยู บุช




กำลังโหลดความคิดเห็น