xs
xsm
sm
md
lg

กรีซเข้าคูหาลงประชามติชี้ชะตา อยู่หรือลา “ยูโรโซน” คาดคะแนนคู่คี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i><b>นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ของกรีซ ไปใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติที่หน่วยลงคะแนนแห่งหนึ่งในกรุงเอเธนส์วันอาทิตย์ (5 ก.ค.) รัฐบาลที่นำโดยฝ่ายซ้ายจัดของเขา รณรงค์เรียกร้องให้ประชาชนออกเสียง “ไม่ยอมรับ” มาตรฐานเข้มงวดทางเศรษฐกิจแลกกับการได้เงินช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ ถึงแม้จะถูกบรรดาเจ้าหนี้เตือนว่า หากเสียง “ไม่ยอมรับ” เป็นฝ่ายชนะในการลงประชามติคราวนี้ ก็อาจหมายถึงการที่กรีซจะต้องออกจากยูโรโซน</i></b>
เอเจนซีส์ - ประชาชนชาวกรีกออกมาโหวตกันเมื่อวันอาทิตย์ (5 ก.ค.) ในการลงประชามติที่นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ประกาศว่าจะเป็นการตัดสินอนาคตของกรีซในยูโรโซน ขณะที่ประเทศแห่งนี้จวนเจียนล่มสลายทางการเงินเต็มที สำหรับผลการลงคะแนนนั้น จากโพลล่าสุดมีแนวโน้มว่า คะแนนสนับสนุนและคัดค้านจะใกล้เคียงคู่คี่กันชนิดหายใจรดต้นคอ

ตั้งแต่หมู่เกาะห่างไกลในทะเลอีเจียน ไปจนถึงพื้นที่ใต้ร่มเงาของมหาวิหารพาร์เทนอนอันเก่าแก่อายุ 2,400 ปีในกรุงเอเธนส์ ประชาชนชาวกรีกต่างทยอยกันเข้าคูหาเลือกตั้งไปลงประชามติว่า จะยอมรับหรือปฏิเสธข้อเสนอเงินกู้ของเจ้าหนี้ระหว่างประเทศซึ่งต้องแลกกับมาตรการรัดเข็มขัดที่เง้มงวดยิ่งขึ้น

การลงประชามติครั้งนี้มีขึ้นหลังจากรัฐบาลประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน และบังคับปิดธนาคารพาณิชย์ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งจำกัดการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มเพียงคนละ 60 ยูโร ต่อวัน

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (3) กลไกรักษาเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป ซึ่งเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ให้กรีซ 144,600 ล้านยูโร (160,000 ล้านดอลลาร์) ออกประกาศอย่างเป็นทางการว่า กรีซผิดนัดชำระหนี้ เพียงไม่กี่วันหลังจากกรีซกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วแห่งแรกของโลกที่ผิดนัดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
<i><b>รัฐมนตรีคลัง ยานิส วารูฟากิส ของกรีซ ออกมาจากคูหากาบัตร ก่อนจะหย่อนบัตรลงคะแนนลงหีบ ณ หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงเอเธนส์เมื่อวันอาทิตย์ (5) วารูฟากิสเป็นมันสมองสำคัญของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ในการเจรจาต่อรองกับพวกเจ้าหนี้ต่างประเทศ ซึ่งกำลังนำไปสู่สถานการณ์อันน่าวิตกที่กรีซอาจจะต้องออกจากยูโรโซน</i></b>
นอกจากนั้นยังคาดหมายกันว่า สภาพคล่องของระบบการธนาคารกรีซจะหมดสิ้นลงภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้ เว้นแต่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เจ้าหนี้รายใหญ่อีกรายหนึ่งจะอัดฉีดเงินก้อนใหม่ๆ เข้ามาให้อย่างรวดเร็ว โดยอีซีบีมีกำหนดประชุมเพื่อหารือเรื่องนี้ในวันจันทร์ (6)

ขณะเดียวกัน ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย ชั้นวางสินค้าอยู่ในสภาพว่างเปล่าตั้งแต่หลายวันก่อนการทำประชามติ ขณะที่การนำเข้ายาเวชภัณฑ์ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมเงินทุนที่ห้ามการโอนเงินออกนอกประเทศ

การทำประชามติครั้งนี้มีความสำคัญถึงขนาดที่ชาวกรีกในต่างแดนจำนวนมากตัดสินใจเดินทางกลับไปลงคะแนนที่บ้านเกิด เนื่องจากการทำประชามติจัดขึ้นอย่างกระชั้นชิดกระทั่งสถานเอกอัครราชทูตกรีซในประเทศต่างๆ ไม่สามารถเตรียมการลงคะแนนได้ทัน

สหภาพยุโรป (อียู) และนานาชาติก็ติดตามผลการลงประชามติอย่างใจจดใจจ่อ โดยเห็นกันว่าครั้งนี้เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับระบบเงินสกุลเดียวของยุโรปที่สถาปนาขึ้นเมื่อปี 1999 และกรีซเข้าร่วมในอีกสองปีต่อมา

บรรดาผู้นำอียูเตือนว่า การโหวต ”โน” ตามที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีซีปราส รณรงค์เรียกร้อง อาจทำให้กรีซต้องออกไปจากยูโรโซนหรือที่เรียกกันว่า “เกร็กซิต” (Grexit) ซึ่งจะส่งกระทบกว้างขวา'ต่อเศรษฐกิจโลก และโดยเฉพาะต่ออภิมหาโครงการ “สหภาพการเงินที่ไม่อาจแตกสลายได้ของยุโรป”

ทว่า ผู้นำเอเธนส์ยืนยันว่า ชาวกรีกจำเป็นต้องโหวตคัดค้านเท่านั้น เพื่ออยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในยูโรโซน และเพื่อให้หลังจากนี้ไป รัฐบาลจะมีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้ระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเจรจาเรียกร้องให้ลดหนี้อันมหึมาของกรีซ

ยานิส วารูฟากิส ขุนคลังกรีซ ถึงกับแถลงในวันเสาร์ (4) กล่าวหาพวกเจ้าหนี้ “ก่อการร้าย” ด้วยการโหมกระพือความกลัวเรื่องที่กรีซอาจต้องหลุดจากยูโรโซน โดยทั้งวารูฟากิสและซีปราสต่างยืนยันว่า ไม่มีกลไกทางกฎหมายที่บังคับให้กรีซออกจากยูโรโซน เนื่องจากสหภาพการเงินเป็นนโยบายที่ “ไม่อาจเปลี่ยนกลับได้”
<i><b>จีออร์กอส เตรนต์ซิออส วัย 66 ปีและปลดเกษียณกินบำนาญแล้ว  ยังออกมาถือธงสหภาพยุโรป ขณะเข้าร่วมการชุมนุมในกรุงเอเธนส์เมื่อวันศุกร์ (3) ของฝ่ายสนับสนุนให้ผู้ออกเสียงกา “ยอมรับ” ในการลงประชามติวันอาทิตย์ (5)</i></b>
ในขณะที่การลงประชามติกำลังดำเนินอยู่ ไม่มีสำนักอันน่าเชื่อถือแห่งไหนกล้าฟันธงผลลัพธ์ที่จะออกมาในคราวนี้ โดยที่ผลสำรวจต่างๆ ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันศุกร์ (3) อันเป็นวันสุดท้ายที่กฎหมายอนุญาตนั้น พบว่า มีโพลของ 4 สำนักให้คะแนนโหวตสนับสนุนนำหน้าเล็กน้อย ขณะที่โพลของสำนักที่ 5 ระบุว่าฝั่งโหวตคัดค้านนำเฉียดฉิวแค่ 0.5%

ฝั่งที่สนับสนุนข้อเสนอของเจ้าหนี้เห็นว่า แม้ต้องยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดซึ่งมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดขึ้นกว่าเดิมด้วย เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาของกรีซ แต่การปล่อยให้แบงก์ล้มและกลับไปใช้เงินสกุลแดร็กมาของกรีซน่าจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า ขณะที่ฝ่ายที่คัดค้านบอกว่า กรีซไม่สามารถแบกรับมาตรการรัดเข็มขัดที่ทำให้มีคนตกงานถึง 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศได้อีกต่อไป

รัฐบาลกรีซชุดปัจจุบันที่นำโดยพรรคไซรีซา ซึ่งมีแนวทางซ้ายจัด ประกาศว่าจะลาออก หากประชาชนโหวตสนับสนุนข้อเสนอของเจ้าหนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงอาจจะทำให้สถานการณ์ของกรีซไร้ความแน่นอนมากขึ้น เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆ จะต้องพยายามรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เพื่อขัดตาทัพเข้าทำการเจรจากับเจ้าหนี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่

ทางด้านเจ้าหนี้ยุโรประบุว่า หากกรีซโหวตสนับสนุน จะกระตุ้นความหวังในการฟื้นความช่วยเหลือแก่เอเธนส์ ขณะที่การโหวตคัดค้านเท่ากับเป็นการปฏิเสธกฎที่บังคับใช้ในยูโรโซน ทำให้กรีซต้องหาทางช่วยตัวเอง
<i><b>ยานนิส วัย 29 ปีซึ่งปัจจุบันตกงาน เข้าร่วมการชุมนุมวันศุกร์ (3) ที่กรุงเอเธนส์ ของฝ่ายที่เรียกร้องให้ผู้ออกเสียงกา “ไม่ยอมรับ” ในการลงประชามติวันอาทิตย์ (5)</i></b>
นักวิเคราะห์ยังมองว่า ถ้าผลการลงคะแนนคู่คี่กันมาก อาจทำให้สถานการณ์ยิ่งสับสนและนำไปสู่การประท้วงรุนแรง

ทั้งนี้ คูหาลงคะแนนกำหนดปิดลงในเวลา 19.00 น. (ตรงกับ 23.00 น.เวลาเมืองไทย) และคาดว่า จะทราบผลเบื้องต้นในไม่กี่ชั่วโมงถัดไป

นักวิเคราะห์ทางการเงินหลายคนไม่เชื่อว่า ผลการลงประชามติจะทำให้วิกฤตหนี้กรีซเปลี่ยนแปลงมากนัก และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร กรีซกับเจ้าหนี้ต้องกลับมาเจรจากันแน่นอน ถึงแม้หากฝั่ง “โน” ชนะ จะเร่งรัด “เกร็กซิต” ก็ตาม

กระนั้น นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำบางคน อาทิ โจเซฟ สติกลิตช์ เจ้าของรางวัลโนเบลและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในอเมริกา เชื่อว่า ทางเลือกที่เลวร้ายน้อยที่สุดสำหรับกรีซคือโหวต “โน” และยอมรับการออกจากยูโรโซนอันเจ็บปวดเพื่อฝ่าฟันฟื้นเสถียรภาพเศรษฐกิจด้วยการลดค่าเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น