xs
xsm
sm
md
lg

50 ประเทศลงนามก่อตั้งธนาคาร AIIB “ไทย” รอเซ็นปลายปี จีนยันไม่เอาอำนาจวีโต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน(กลางล่าง) ถ่ายภาพร่วมกับเหล่าคณะผู้แทนจากชาติต่างๆที่ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามตราสารก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันจันทร์(29มิ.ย.)
เอเจนซีส์ - ประเทศต่างๆ 50 รายจาก 5 ทวีป ลงนามอย่างเป็นทางการในกรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ (29 มิ.ย.) เพื่อเป็นชาติสมาชิกผู้ก่อตั้ง “ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย” (เอไอไอบี) นอกจากนั้นยังมีอีก 7 รายซึ่งหนึ่งในนั้นคือไทย ที่คาดว่าจะร่วมเซ็นชื่อด้วยภายในปีนี้ เหตุการณ์นี้ถือเป็นหนึ่งในชัยชนะอันงดงดงามด้านนโยบายการต่างประเทศของพญามังกร ขณะที่จีนซึ่งถือหุ้นอยู่เกือบ 1 ใน 3 ยืนยันว่าตนเองไม่ได้แสวงหาและก็จะไม่รักษา “อำนาจวีโต้” ที่สามารถทัดทานนโยบายสำคัญๆ ของสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) แห่งนี้

ตามคำแถลงของกระทรวงการคลังจีนระบุว่า มีผู้แทนจาก 57 ประเทศร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามตราสารก่อตั้งแบงก์เอไอไอบี ที่จีนเป็นผู้เริเริ่มขึ้นมา ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งคราวนี้ โดยที่ 50 ประเทศได้เซ็นชื่อในตราสารก่อตั้งแล้ว เป็นต้นว่า ออสเตรเลีย อิหร่าน จอร์เจีย และอังกฤษ ขณะที่อีก 7 ประเทศ ประกอบด้วยเดนมาร์ก คูเวต มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และไทย คาดว่าจะร่วมลงนามภายในปลายปีนี้หลังจากฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศนั้นๆ ให้สัตยาบันตราสารก่อตั้งนี้ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศแล้ว



ตามรายละเอียดของตราสารก่อตั้งซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกระทรวงการคลังจีน เงินทุนจดทะเบียนทั้งหมดของธนาคารเอไอไอบี คือ 100,000 ล้านดอลลาร์ แต่ในเบื้องต้นจะมีการชำระเพียง 20,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ประเทศที่อยู่ภายในภูมิภาคเอเชีย จะเป็นผู้ถือหุ้นรวมกันเท่ากับ 75% และประเทศนอกเอเชียถือครองอีก 25% โดยที่ประธานธนาคารต้องเป็นตัวแทนจากชาติเอเชีย สามารถรับตำแหน่งติดต่อกันได้เพียง 2 วาระๆ ละ 5 ปี

ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของเอไอไอบี ได้แก่จีน ซึ่งถือเป็นจำนวน 30.34% ของทุนจดทะเบียน ตามด้วยอินเดีย 8.4% ขณะที่รัสเซียซึ่งมีดินแดนคร่อมอยู่ทั้งในยุโรปและเอเชีย ถูกจัดเป็นชาติเอเชียและได้ถือหุ้น 6.5% สำหรับชาตินอกเอเชียนั้น เยอรมนีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดเป็นจำนวน 4.5% จากนั้นก็เป็นฝรั่งเศส 3.4% และบราซิล 3.2%

คำแถลงและรายละเอียดในตราสารก่อตั้งระบุว่า โครงสร้างการออกเสียงในเอไอไอบีนั้น ให้สมาชิกรายเล็กกว่ามีเสียงมากกว่าหุ้นที่ถือครองอยู่เล็กน้อย ด้วยเหตุนี้ จีนจะมีสิทธิ์ออกเสียงเพียง 26.06% คะแนนเสียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ปักกิ่งสามารถวีโต้เหนือมติทุกๆ มติของแบงก์ใหม่แห่งนี้ได้ ทว่าเพียงพอสำหรับยับยั้งมติที่ต้องการเสียงข้างมากเด็ดขาด เป็นต้นว่า การเลือกประธานธนาคาร การจัดหาเงินทุนให้แก่ชาตินอกภูมิภาค และการจัดสรรรายได้ของธนาคาร ซึ่งต้องได้คะแนนเสียง 75% จากชาติสมาชิกจำนวน 2 ใน 3

อเมริกานั้นถึงแม้ได้เปลี่ยนท่าทีจากตอนแรกที่พยายามขัดขวางประเทศต่างๆ ไม่ให้เข้าร่วมกับ เอไอไอบี แล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังคงแสดงความกังวลว่า จีนจะมีอิทธิพลครอบงำสถาบันใหม่แห่งนี้ ขณะที่ปักกิ่งยืนยันว่า จะไม่มีอำนาจวีโต้ในเอไอไอบี เหมือนกับที่วอชิงตันมีอำนาจเช่นนี้แบบจำกัดในธนาคารโลก

สำนักข่าวซินหวารายงานโดยอ้างการเปิดเผยของสือ เหยาปิน รัฐมนตรีช่วยว่าการคลังแดนมังกรซึ่งระบุว่า จีนไม่ได้แสวงหาอำนาจวีโต้ในเอไอไอบี และพูดถึงการที่ในตอนเริ่มแรกนี้จีนมีหุ้นอยู่เกือบ 1 ใน 3 และมีคะแนนเสียงเกิน 1 ใน 4 ว่า เป็น “ผลลัพธ์ปกติ” ของระเบียบกฎเกณฑ์ในปัจจุบันเท่านั้น แต่เมื่อมีสมาชิกอื่นๆ เข้าร่วมเพิ่มขึ้น สัดส่วนหุ้นและคะแนนเสียงนี้ก็จะค่อยๆ ลดลงไป

ทั้งนี้เอไอไอบี ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นำเสนอครั้งแรกเมื่อไม่ถึง 2 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นหนึ่งในความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่สุดด้านนโยบายต่างประเทศของจีน กล่าวคือแม้มีความพยายามสกัดดาวรุ่งอย่างหนักหน่วงจากวอชิงตัน แต่กลับกลายเป็นว่า พันธมิตรสำคัญเกือบทั้งหมดของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ต่างแห่เข้าร่วม เอไอไอบี กันอย่างคึกคัก

จะมีก็แต่เพียงอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดาเท่านั้นที่ยังทวนกระแสโลก

ต้นเดือนนี้ เบน เบอร์นันกี้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตำหนิสมาชิกรัฐสภาอเมริกันว่า ส่งเสริมการก่อตั้งเอไอไอบีทางอ้อม ด้วยการขัดขวางการปฏิรูปเพื่อเพิ่มอำนาจประเทศกำลังพัฒนาในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

สีประกาศในพิธีลงนามคราวนี้ว่า เอไอไอบีออกแบบมาเพื่อตอบสนองการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย รวมทั้งส่งเสริมการเชื่อมโยงและกระชับความร่วมมือภายในภูมิภาคในด้านการพัฒนา

ผู้นำจีนยังส่งสัญญาณการรับบทศูนย์กลางของเอไอไอบี โดยสำทับว่า ปักกิ่งพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากสมาชิกทั้งหมด

เอไอไอบี จะเริ่มดำเนินการปลายปีนี้ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในปักกิ่ง ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และใช้เงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมทั้งหมด

เช่นเดียวกับธนาคารโลกและเอดีบี พนักงานของเอไอไอบีจะได้รับเงินเดือนปลอดภาษี

โยฮันน์ ชไนเดอร์-อัมมานน์ หัวหน้าแผนกกิจการเศรษฐกิจ การศึกษา และการวิจัยของสวิตเซอร์แลนด์ ยกให้เอไอไอบี เป็น “ส่วนเสริมที่จำเป็น” ของธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งอื่นๆ และย้ำความจำเป็นในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาล

มีความกังวลกันในโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯและญี่ปุ่นว่า ปักกิ่งอาจใช้เอไอไอบี เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมผลประโยชน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของตัวเอง แต่ตราสารก่อตั้งให้คำมั่นว่า ธนาคารแห่งนี้จะดำเนินการตามหลักการการธนาคารที่เข้มงวด รวมทั้งนโยบายเพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ที่โตเกียว โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความหวังว่าเอไอไอบี จะรับบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรฐานของสถาบันระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงมาตรฐานด้านธรรมาภิบาล และสำทับว่าญี่ปุ่นจะจับตาการทำงานของเอไอไอบี อย่างใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น