xs
xsm
sm
md
lg

“เอเธนส์” ยันยื่นข้อเสนอให้เจ้าหนี้ ก่อนประชุมซัมมิตฉุกเฉินยูโรโซนวันจันทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<b><i>ประชาชนพากันถอนเงินออกจากเครื่องเอทีเอ็ม ที่บริเวณใจกลางกรุงเอเธนส์ เมื่อวันศุกร์ (19 มิ.ย.) ขณะที่ขอทานคนหนึ่งนอนอยู่บนฟุตบาท  การที่กรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ และกระทั่งต้องออกจากยูโรโซน  ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เลิกปล่อยเงินทุนฉุกเฉินหนุนหลังพวกธนาคารในกรีซ  ทำให้เกิดกระแสหวาดวิตกเกี่ยวกับฐานะของแบงก์ในประเทศนี้ </b></i>
เอเจนซีส์ - เอเธนส์ยืนยันวันอาทิตย์ (21 มิ.ย.) ยื่นข้อเสนอใหม่ให้เจ้าหนี้เพื่อปลดล็อกเงินกู้งวดสุดท้าย ก่อนการประชุมสุดยอดยูโรโซนในวันจันทร์ (22) แต่ยังยืนกรานต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ถึงแม้กำลังถังแตกไม่มีเงินชำระหนี้ซึ่งถึงกำหนดสิ้นเดือนนี้ รวมทั้งทำท่าอาจต้องใช้มาตรการควบคุมเงินทุนภายในไม่กี่วันข้างหน้า หลังจากประชาชนแห่ถอนเงินวันละหลายพันล้านยูโร

ถึงแม้รัฐบาลกรีซยืนกรานต่อต้านการใช้มาตรการลดบำนาญและการขึ้นภาษี อย่างที่กำลังถูกบีบคั้นจากทางเจ้าหนี้ต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู), ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่บรรดาผู้นำในรัฐบาลเอเธนส์ต่างสลับสับเปลี่ยนออกมายืนยันว่า จะสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อรับเงินกู้งวดสุดท้าย 7,200 ล้านยูโรได้สำเร็จ

ตรงข้ามกับเหล่าผู้นำยุโรปที่เริ่มหมดความอดทนมากขึ้น หลังเจรจามานานหลายเดือนโดยไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากกรีซทั้งในเรื่องการตัดลดงบประมาณและการปฏิรูปเศรษฐกิจ กระทั่งผู้นำบางคนเริ่มพูดถึงอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่กรีซจะเป็นชาติแรกที่ออกจากยูโรโซน

ในวันเสาร์ (20) ยานิส วารูฟากิส รัฐมนตรีคลังกรีซ เขียนบทความในลงในหนังสือพิมพ์ชั้นนำของเยอรมนี ให้สัญญาว่า เอเธนส์เตรียมพร้อมประนีประนอมกับเจ้าหนี้ ตราบเท่าที่จะไม่ถูกบังคับให้ต้องรับเงื่อนไขที่ทำให้กรีซหมดหวังในการชำระหนี้ เหมือนที่รัฐบาลชุดก่อนๆ เคยเจอมา

การต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของกรีซได้รับการสนับสนุนจากทั่วยุโรป โดยในวันเดียวกันนั้น โดยมีรายงานว่า มีผู้ออกมาชุมนุมประท้วงมาตรการนี้นับหมื่น ทั้งในลอนดอน เบอร์ลิน และปารีส

วารูฟากิสสำทับว่า นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ต้องตัดสินใจเด็ดขาดว่า จะยอมรับข้อตกลงของเอเธนส์หรือไม่
<b><i>รัฐมนตรีคลัง ยานิส วารูฟากิส ของกรีซ เดินทางมาถึงสำนักนายกรัฐมนตรีในกรุงเอเธนส์เมื่อวันอาทิตย์ (21 มิ.ย.) ด้วยรถจักรยานยนต์คันเก่งของเขา เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี  ก่อนที่จะมีการประชุมฉุกเฉินผู้นำยูโรโซนในวันจันทร์ (22) เพื่อพิจารณาเรื่องวิกฤตหนี้สินกรีซ </b></i>
ทางด้านนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราสของกรีซ เมื่อวันเสาร์ได้หารือกับทีมที่จะเดินทางไปเจรจากับเจ้าหนี้ ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีของเขาในวันอาทิตย์ (21) นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดว่า ซีปราส ได้หารือทางโทรศัพท์กับฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อพยายามผ่าทางตันก่อนถึงการประชุมฉุกเฉินผู้นำยูโรโซนในวันจันทร์ (22) ที่กรุงบรัสเซลส์

ขณะเดียวกัน เจอโรน ดิจเซลโบลม รัฐมนตรีคลังเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประธานของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือที่เรียกกันว่า “ยูโรกรุ๊ป” ได้ออกมาประกาศเลื่อนการประชุมในวันจันทร์ให้เร็วขึ้น 2 ชั่วโมงครึ่ง เป็นช่วงเที่ยงครึ่งตามเวลาท้องถิ่นของบรัสเซลส์ ขณะที่การประชุมสุดยอดนั้นจะเริ่มต้นเวลา 19.00 น.

รัฐมนตรีหลายคนของยุโรปไม่คิดว่า จะมีข้อตกลงสุดท้ายกันได้ในวันจันทร์ แต่อาจบรรลุความเข้าใจทางการเมืองเพื่อปูทางสู่ข้อตกลงที่สมบูรณ์ภายในสิ้นเดือนนี้

กรีซนั้นต้องการเงินกู้เพื่อนำไปชำระหนี้ไอเอ็มเอฟ 1,600 ล้านยูโรในวันที่ 30 เดือนนี้ ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ ก็มีความเสี่ยงว่าจะยังได้รับการสนับสนุนจากอีซีบี รวมถึงจะยังคงอยู่ในยูโรโซน ได้ต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้อีซีบีเป็นผู้ที่คอยให้เงินทุนสนับสนุนค้ำจุนฐานะของพวกธนาคารกรีซอยู่

จากแนวโน้มดังกล่าว จึงกำลังกดดันให้ชาวกรีซแห่ถอนเงินออกจากแบงก์ ส่งผลให้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (19) อีซีบีต้องเพิ่มทุนสำรองสภาพคล่องฉุกเฉินที่ปล่อยให้พวกธนาคารกรีซเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ และมีแนวโน้มว่า หากปราศจากความคืบหน้าในการประชุมสุดยอดวันจันทร์ กรีซอาจต้องประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน
<b><i>ประชาชนในหลายประเทศยุโรป เข้าร่วมการชุมนุมเดินขบวนเมื่อวันเสาร์ (20 มิ.ย.) ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคม สหภาพแรงงาน และนักการเมืองฝ่ายซ้าย  เพื่อแสดงการสนับสนุนการรับผู้อพยพ และการต่อสู้ของประชาชนชาวกรีกที่ต้องลำบากจากมาตรการรัดเข็มขัดซึ่งพวกเจ้าหนี้กำหนดเงื่อนไขมา  ในภาพนี้เป็นบรรยากาศการชุมนุมเช่นนี้ที่กรุงปารีส, ฝรั่งเศส </b></i>
อีวัลด์ โนวอตนีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรียและสมาชิกคณะมนตรีบริหารของอีซีบี เผยว่า หากกรีซผิดนัดชำระหนี้จะถือเป็นการล้มละลายทางเทคนิค อันนำมาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการออกจากยูโรโซนและกลับไปใช้เงินสกุลแดรกมา

ทางด้าน แจ็ค ลูว์ รัฐมนตรีคลังอเมริกา ตอกย้ำความกังวลของนานาชาติเกี่ยวกับผลกระทบจากการออกจากยูโรโซนของกรีซ โดยกล่าวว่า ขณะนี้ ขึ้นอยู่กับเอเธนส์ในการยอมประนีประนอมกับเจ้าหนี้

อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ซีปราส ผู้นำพรรคฝ่ายซ้ายไซริซา ที่ชนะการเลือกตั้งในเดือนมกราคมจากการให้สัญญานำกรีซออกจากมาตรการรัดเข็มขัด จะยินดีประนีประนอมหรือไม่

ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการรัดเข็มขัดของไอเอ็มเอฟ อียู และอีซีบี แลกกับแพกเกจเงินกู้ช่วยเหลือรวม 2 รอบ เศรษฐกิจกรีซร่วงลง 25% ค่าแรงและบำนาญถูกตัด ประชาชน 1 ใน 4 ตกงาน

กระนั้น ชาวกรีซส่วนใหญ่ยังต้องการอยู่ในยูโรโซน โดยผลสำรวจที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ (21) ระบุว่า ประชาชน 62% เชื่อว่า การกลับไปใช้เงินแดรกมา จะทำให้สถานการณ์ของกรีซเลวร้ายลง มีเพียง 22% เห็นควรออกจากระบบเงินตรายูโร

ขณะเดียวกัน SETE สมาคมการท่องเที่ยวกรีซให้สัมภาษณ์นิตยสารออนไลน์ฉบับหนึ่งของเยอรมนีว่า การออกจากยูโรโซนจะทำให้กรีซกลับไปสู่ระดับประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น