xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพยุโรปสะท้านเผชิญ'ดินไหว'พวกพรรคต้านอียูกอดคอเข้า'สภา'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สหภาพยุโรป (อียู) หนาวสะท้านในวันจันทร์ (26 พ.ค.) ภายหลังผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปแสดงให้เห็นว่า พรรคชาตินิยมขวาจัดของฝรั่งเศส และพรรค UKIP ที่ชูกระแสต่อต้านอียู คว้าชัยชนะสำคัญ
เอเจนซีส์ - สหภาพยุโรป (อียู) หนาวสะท้านในวันจันทร์ (26 พ.ค.) ภายหลังผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปแสดงให้เห็นว่า พรรคชาตินิยมขวาจัดของฝรั่งเศส และพรรค UKIP ที่ชูกระแสต่อต้านอียู คว้าชัยชนะสำคัญ ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้รับการเปรียบเทียบว่า สร้างความสั่นสะเทือนประดุจ “แผ่นดินไหว” ไปทั่วทั้งยุโรปตลอดจนทั่วโลก เนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในยุโรปมีความต้องการในการลดอำนาจอียู หรือกระทั่งยุบทิ้งอียูไปเลย

ตามการคาดการณ์ของรัฐสภายุโรปเองในช่วงเช้าวันจันทร์ (26) แสดงให้เห็นว่ากระแสต่อต้านสหภาพยุโรป กำลังพัดแรงจัด โดยกลุ่มพรรคการเมืองที่ส่งเสริมแนวทางนี้ มีแนวโน้มกวาดที่นั่ง 140 ที่นั่งโดยประมาณ จากทั้งหมด 751 ที่นั่ง

จากการลงคะแนนเสียงในทั้ง 28 ชาติสมาชิกอียู ซึ่งทยอยจัดให้มีขึ้นในช่วงเวลา 4 วันโดยสิ้นสุดลงในวันอาทิตย์ (25) คราวนี้ ผลโหวตที่สร้างความสะท้านสะเทือนที่สุด มาจากทั้งสองฟากฝั่งช่องแคบอังกฤษ

ในฝรั่งเศส พรรคเนชันแนล ฟรอนต์ (FN) ซึ่งมีแนวทางชาตินิยมขวาจัด ได้คะแนนกว่า 25% และครอบครองที่นั่งในสภายุโรป 24 ที่นั่ง จาก 74 ที่นั่งตามโควตาของแดนน้ำหอม

ส่วนในอังกฤษ พรรคที่มีแนวทางให้ถอนตัวออกจากอียูอย่าง พรรคยูเค อินดิเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ (UKIP) มีแนวโน้มที่จะกวาดชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการคว้าคะแนนเสียงไปได้กว่า 27% จากผลการนับคะแนนไปแล้ว 10 ใน 12 เขต

ไนเจล ฟาราจ ผู้นำ UKIP กล่าวว่า ชัยชนะครั้งนี้เป็น “แผ่นดินไหว” ทางการเมือง เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษที่พรรคการเมืองกระแสหลักทั้ง 2 พรรค อันได้แก่ พรรคคอนเซอร์เวทีฟ และพรรคเลเบอร์ ไม่สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง

ทว่า UKIP ที่ไม่มีที่นั่งในรัฐสภาของอังกฤษเองเลยแม้เพียงที่นั่งเดียว กลับมีคะแนนนำพรรคเลเบอร์ พรรคฝ่ายค้านหลักประมาณ 2% ส่วนพรรคคอนเซอร์เวทีฟของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ถึงกับหล่นไปอยู่อันดับ 3 ทีเดียว

ผลโหวตเช่นนี้จะทำให้ UKIP มีที่นั่งในสภายุโรป 23 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2009 กว่า 10 ที่นั่ง

ไม่เพียงสมาชิกรายใหญ่ของอียู 2 ประเทศนี้เท่านั้น ในเดนมาร์ก พรรคแดนิช พีเพิลส์ ปาร์ตี้ ที่ต่อต้านอียู ได้ชัยชนะเช่นเดียวกัน ขณะที่ทั้งในฮังการีและกรีซ พรรคการเมืองขวาจัดก็ทำคะแนนโดดเด่นเตะตา

ที่ออสเตรีย พรรคปีกขวา ฟรีดอม ปาร์ตี้ กวาดคะแนนเป็นกอบเป็นกำเกือบ 20% เป็นอันดับ 3 ในประเทศ ถึงแม้ว่าในอิตาลี สเปน และกรีซ พรรคฝ่ายซ้ายยังคงมีคะแนนนำ

รัฐสภายุโรปคาดการณ์สถานการณ์โดยรวมว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ กลุ่มการเมืองแนวทางกลาง-ขวาคือ ยูโรเปียน พีเพิลส์ ปาร์ตี้ (EPP) น่าจะเข้ามาเป็นอันดับ 1 (212 ที่นั่ง ลดลง 63 ที่นั่ง) ตามด้วยกลุ่มโซเชียลลิสต์ (187 ที่นั่ง ลดจาก 196 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว) และที่สามคือกลุ่มพันธมิตรเสรีนิยม หรือ อัลเด ลิเบอรัลส์ (72 ที่นั่ง)

หากผลการเลือกตั้งได้รับการยืนยัน ชัยชนะของพรรค FN ในฝรั่งเศสจะถือเป็นคะแนนสูงสุด ซึ่งพรรคที่ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพและต่อต้านอียูภายใต้การนำของ มารีน เลอ เปน เคยได้รับมา โดย FN ได้คะแนนทั้งหมด 26% ทิ้งอันดับ 2 คือ พรรคกลาง-ขวา UMP 5% ขณะที่พรรคโซเชียลลิสต์ของประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ได้ที่ 3 ด้วยคะแนน 14.5%

“คนฝรั่งเศสไม่อยากถูกปกครองโดยคนนอก กรรมาธิการ และนักวิชาการอียูที่พวกเขาไม่ได้เลือกอีกต่อไป แต่ต้องการได้รับการปกป้องจากโลกาภิวัตน์และทวงคืนสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง” เลอ เปนที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะปฏิรูปฝรั่งเศสและอียูชนิดถอนรากถอนโคน ย้ำ

อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีสำหรับฝ่ายสนับสนุนอียูในเยอรมนี เนื่องจากพรรคแนวทางอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ได้คะแนนการเลือกตั้งกว่า 36% และพันธมิตรแนวร่วมคือ โซเชียล เดโมแครตส์ ซึ่งเป็นพรรคกลาง-ซ้ายได้ 27%

กระนั้น ใช่ว่าประชาชนในประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในอียูแห่งนี้จะปฏิเสธกระแสต่อต้านอียูเสียทีเดียว โดยพรรคอัลเทอร์เนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี ได้คะแนนไปทั้งสิ้น 7% สูงกว่าเกณฑ์ที่จะครอบครองที่นั่งในสภายุโรป ทั้งที่เพิ่งก่อตั้งพรรคได้เพียงปีเดียว

อีกประเด็นที่เป็นที่สนใจคือ จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ที่ปกติแล้วจะลดลงทุกปีนับแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1979และทำสถิติต่ำสุดในปี 2009 ที่ 43% สำหรับปีนี้แม้ตัวเลขดีขึ้นเล็กน้อยโดยอยู่ที่ 43.09% แต่ก็เห็นได้ชัดว่า เป็นเพราะผู้ออกมาใช้สิทธิ์จำนวนมากต้องการสนับสนุนพรรคการเมืองที่ต่อต้านเงินยูโรและต่อต้านผู้อพยพ

ขณะเดียวกัน การดาหน้าเข้าสู่สภายุโรปของพรรคการเมืองต่อต้านอียูและพรรคที่มีแนวทางสุดขั้วทำให้เกิดความกังวลกันว่า รัฐสภายุโรปอาจถูกจับเป็นตัวประกันและมีการบ่อนทำลายอียูจากภายใน ทว่า นักวิเคราะห์มองว่า เรื่องนี้เป็นการกลัวเกินเหตุ

กระนั้น โจเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องให้กลุ่มสนับสนุนอียูร่วมแรงร่วมใจกันอีกครั้ง

ทางด้านฌอง-โคลด จุงเกอร์ ผู้นำของกลุ่ม EPP ในยุโรป ยืนกรานว่า คนส่วนใหญ่ยังเลือกเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป

“กลุ่มโปรยุโรปจะยังคงเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภายุโรป” จุงเกอร์ ซึ่งเป็นตัวเก็งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนต่อไป กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น